วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การประยุกต์ใช้ Social Network และ Social Media สำหรับการศึกษา
          ความก้าวหน้าของระบบอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ทางสังคม คือ เครือข่ายสังคมที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า “สังคมออนไลน์” (Social Network) โดยเครือข่ายสังคมออนไลน์นี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สมาชิก หรือก็คือคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และศาสนา ทุกระดับการศึกษาอาชีพ และทุกกลุ่มสังคมย่อยจากทั่วโลกเป็นผู้สื่อสาร หรือเขียนเล่าเนื้อหาเรื่องราว ประสบการณ์ บทความ รูปภาพ และวิดีโอ ที่สมาชิกเขียน และทำขึ้นเองหรือพบเจอจากสื่ออื่นๆ แล้วนำมาแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายของตนผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เครือข่ายสังคมออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ก่อให้เกิดวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีของสื่อสังคมออนไลน์หลากหลายประเภท (ทัตธนันท์ พุ่มนุช, 2553)
          ปัจจุบัน Social Media เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษามีการใช้ติดต่อสื่อสารกันอย่างแพร่หลาย และยังมีบทบาทกับระบบการศึกษาด้วย ผู้สอนจะสามารถประยุกต์ใช้ Social Media กับการศึกษา นำมาเป็นช่องทางในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ความหมายของสังคมออนไลน์ (Social Network)
          กติกา สายเสนีย์ (2550) ได้ให้ความหมายของ Social Network คือ การที่ผู้คนสามารถทำความรู้จัก และเชื่อมโยงกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง หากเป็นเว็บไซต์ที่เรียกว่าเป็น เว็บ Social Network ก็คือเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน
          อนงค์นาฎ ศรีวิหค (2551) ได้ให้ความหมายของ Social Network คือ การเชื่อมโยงประชากรเข้าด้วยกัน
          อิทธิพล ปรีติประสงค์ (2552) ได้ให้ความหมายของ Social Network คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นปรากฏการณ์ของการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลในโลกอินเตอร์เน็ต และยังหมายรวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายกับเครือข่ายสังคมออนไลน์
          สรุปได้ว่า Social Network หมายถึง สังคม หรือการรวมตัวกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มคนรูปหนึ่งที่ปรากฏตัวเกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า ชุมชนออนไลน์ (Community Online) ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเสมือน (Virtual Community) สังคมประเภทนี้จะเป็นการให้ผู้คนสามารถทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน และเชื่อมโยงกันในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยมีการขยายตัวผ่านการติดต่อสื่อสารกันอย่างเป็นเครือข่าย (Network) เช่น เว็บไซต์ Facebook, Twitter, YouTube เป็นต้น



ความหมายของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
          ราชบัณฑิตยสถาน (2554) ได้บัญญัติคำว่า “Social Media” ไว้ว่า “สื่อสังคม” หมายถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมสร้าง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตได้ สื่อเหล่านี้เป็นของบริษัทต่าง ๆ ให้บริการผ่านเว็บไซต์ของตน
          กานดา รุณพงศา สายแก้ว (ม.ป.ป.) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวว่า มีเดีย (Media) หมายถึงสื่อ หรือเครื่องมือที่ใช้เพื่อการสื่อสาร โซเชียล (Social) หมายถึง สังคม และในบริบทของโซเชียลมีเดียร์ โซเชีบลหมายถึงการบางปันในสังคม ซึ่งอาจจะเป็นการบางปันเนื้อหา หรือปฏิสัมพันธ์ในสังคม เพราะฉะนั้น โซเชียลมีเดียในที่นี้หมายถึง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ใช้แสดงความเป็นตัวตนของตนเอง เพื่อที่จะมีปฏิสัมพันธ์กัน หรือแบ่งปันข้อมูลกับบุคคลอื่น
          สื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Media หมายถึง สื่อดิจิตอล หรือซอร์ฟแวร์ที่ทำงานอยู่บนพื้นฐานของระบบเว็บ หรือเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ต ที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคม ที่มีผู้สื่อสารจัดทำขึ้น โดยที่ผู้เขียนจัดทำขึ้นเอง หรือพบเจอสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราว เหตุการณ์ บทความ ประสบการณ์ รูปภาพ วิดีโอ และเพลง แล้วนำมาแบ่งปันเนื้อหา ข้อมูล ข่าวสาร ประสบการณ์ และพูดคุยให้ผู้ใช้ในโลกออนไลน์ ในเครือข่ายของตนได้รับรู้ ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไว เสียง กับคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Elizabeth, 2012; Jan 2011, อรวรรณ วงศ์แก้วโพธิ์ทอง, 2553)

ประเภทของ Social Media
          ประเภทของ Social Media แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้
1.       ประเภทการเขียนบทความ (Web Blog) เป็นระบบจัดการเนื้อหา (Content Management System: CMS) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเขียนบทความที่เรียกว่าโพสต์ (Post) และทำการเผยแพร่ได้ง่าย เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถในด้านต่างๆ สามารถเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวด้วยการเขียนได้อย่างเสรี
2.       ประเภทแหล่งข้อมูล หรือความรู้ (Data/ Knowledge) เป็นเว็บที่รวบรวมข้อมูลความรู้ในเรื่องต่างๆ ในลักษณะเนื้อหาอิสระ ทั้งวิชาการ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สินค้า หรือบริการ โดยมุ่งเน้นให้บุคคลที่มีความรู้ในเรื่องต่างๆ เป็นผู้เข้ามาเขียนหรือแนะนำไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นนักวิชาการ นักวิชาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น Wikipedia, Google Earth เป็นต้น
3.       ประเภทเกมออนไลน์ (Online Games) เป็นเว็บที่นิยมมากเพราะเป็นแหล่งรวบรวมเกมไว้มากมาย จะมีลักษณะเป็นวิดีโอเกมที่เล่นบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งเกมออนไลน์นี้ ผู้เล่นสามารพที่จะสนทนา เล่น แลกเปลี่ยนสิงของในเกมกับบุคคลอื่น ๆ ในเกมได้ และสาเหตุที่มีผู้นิยมมากเนื่องจาก ผู้เล่นได้เข้าสังคมจึงรู้สึกสนุกที่จะมีเพื่อนเล่นเกมไปด้วยกันมากกว่าการเล่นเกมคนเดียว อีกทั้งมีภาพที่สวยงาม และมีกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่ม เช่น อาวุธ หรือเครื่องแต่งตัวใหม่ ๆ ที่สำคัญสามารถที่จะเล่นกับเพื่อน ๆ แบบออนไลน์ได้ทันที เช่น Word of Warcraft, League of Legends, Star Craft เป็นต้น
4.       ประเภทชุมชนออนไลน์ (Community) เป็นเว็บที่เน้นการหาเพื่อนใหม่ หรือการตามหาเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน การสร้าง Profile ของตนเอง โดยการใส่รูปภาพ, กราฟฟิคที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของเรา (Identity) ให้เพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายได้รู้จักเรามากยิ่งขึ้น และยังมีลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรื่องราว ถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น Facebook, Google Plus เป็นต้น
5.       ประเภทฝากรูปภาพ (Photo Management) เว็บที่เน้นฝากเฉพาะรูปภาพโดนการ Upload รูปภาพจากกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือไปเก็บไว้บนเว็บ ซึ่งสามารถแชร์ภาพ หรือซื้อขายภาพกันได้ เช่น Instagram, Flickr, Pinterest เป็นต้น
6.       ประเภทสื่อ (Media) เว็บที่ใช้ฝาก หรือแบ่งปันไฟล์ประเภท Multimedia อย่าง คลิปวิดีโอ ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ โดยใช้วิธีเดียวกันกับแบบเว็บฝากภาพ แต่จะเน้นเฉพาะไฟล์ที่เป็น Multimedia เช่น YouTube, Ustream, Vimeo เป็นต้น
7.       ประเภทซื้อ-ขาย (Business/ Commerce) เป็นเว็บที่ทำธุรกิจออนไลน์ที่เน้นการ ซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์ (e-Commerce) เช่นการซื้อขายรถยนต์ หนังสือ หรือที่พักอาศัย เว็บที่ได้รับความนิยมมาก เช่น Amazon, eBay, Lazada เป็นต้น แต่เว็บไซต์ประเภทนี้ยังไม่ถือว่าเป็น Social Network ที่แท้จริง เนื่องจากไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช่บริการแชร์ข้อมูลกัน นอกจากเน้นการสั่งซื้อ และแนะนำสินค้าเป็นส่วนใหญ่

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
          อำไพศรี โสประทุม (2539) ทำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร และปัจจัยบางประการที่มีผลต่อการยอมรับการสื่อสารคอมพิวเตอร์ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของผู้ใช้คอมพิวเตอร์กรุงเทพมหานคร พบว่า สถานภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมที่มีความสัมพันธ์กันในการยอมรับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยที่การศึกษาทีความสัมพันธ์กับการที่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตช่วยในการทำงาน รายได้ต่อเดือนมีความสัมพันธ์กับความต้องการในอนาคต การเป็นเจ้าของทีความสัมพันธ์กับความถี่บ่อยในการใช้อินเตอร์เน็ต การช่วยพัฒนาในการทำงาน และความต้องการใช้ในอนาคต
          วิฑูรย์ เลิศประเสริฐพันธ์ (2543) ทำการศึกษาเรื่อง การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของวัยรุ่นในชีวิตประจำวัน กรณีศึกษาเฉพาะ นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง มากกว่าเพศชาย รายได้ต่อเดือนระหว่าง 5,001-10,000 บาท มีพฤติกรรมการใช่อินเตอร์เน็ตไม่แตกต่างกัน ยกเว้นระยะเวลาการใช้งาน จะสนใจในข้อมูลกีฬา บันเทิง ศิลปวัฒนธรรม และมีพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้านในช่วงเวลา 20.00-24.00 น. ประมาณวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 61-120 นาที โดยมีรูปแบบการใช้อินเตอร์เน็ตในการติดตามสืบค้นข้อมูล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียน เพื่อความบันเทิง รู้จักเพื่อนใหม่ทางเครือข่าย และใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์
          อรอุมา ศรีสุทธิพันธ์ (2545) ทำการศึกษาเรื่อง ความคิดเห็น และพฤติกรรมการเปิดรับสื่ออินเตอร์เน็ตกับรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 26-35 ปี ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี มีความถี่ในการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต เพียง 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีระยะเวลาในการเปิดรับสื่ออินเตอร์เน็ตในแต่ละครั้งจำนวน 2 ชั่วโมง เวลาที่นิยมมากที่สุดคือช่วงกลางคืน เปิดรับสื่ออินเตอร์เน็ตจากบ้าน สำหรับสิ่งที่นิยมในการใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดคือ การค้นหาข้อมูลข่าวสาร หรือค้นหว้าข้อมูล การสนทนาทางอินเตอร์เน็ต การอ่านหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารทางอินเตอร์เน็ต ส่วนรูปแบบการดำเนินชีวิต กิจกรรมทางอินเตอร์เน็ต คือใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่องาน หรือการศึกษา
          สุทธิพร นิราพาธ (2547) ทำการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ กับการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่น พบว่า พฤติกรรมนั้น จะหมกมุ่น ซ้ำ ๆ ไม่สามารถควบคุมให้หยุดได้ เสียหายต่อตนเอง ผู้อื่น หรือครอบครัว ทั้งด้านการเรียน การงาน การเงิน กฎหมายความขัดแย้งระหว่างบุคคล และข้อเสียของการเล่นเกมนาน ๆ ต่อวัยรุ่น คือ
1.       เกมขโมยเวลาอันมีค่าของเด็กไปจากผู้ปกครอง เกมกลายเป็นเพื่อนสนิทแทนผู้ปกครอง
2.       เด็กจะเห็นความรุนแรงจากเกม ทำให้เกิดความซึมซับความรุนแรง
3.       เกมบางอย่างแทรกเรื่องเพศเข้าไปด้วย ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศจากสิ่งที่ไม่เหมาะสม
4.       เกมทำให้พัฒนาการของวัยรุ่นบกพร่อง ทำให้กล้ามเนื้อมือทำได้แต่กด ๆ เคาะ ๆ ทำงานไม่ละเอียด ขาดทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก
5.       ทำให้อ้วนเพราะมีแต่นั่ง ไม่ได้ออกกำลังกาย
6.       ทำให้ข้อมือเสื่อม สายตาเสื่อมล้าเร็ว รูปร่างไม่สง่าผ่าเผย
7.       ล่าช้าในการพัฒนาการภาษา การจินตนาการ และนามธรรม ขาดทักษะทางสังคม
8.       ขาดทักษะในการบริหารอารมณ์ และมองการแก้ปัญหาเป็นเหมือนเกม ไม่มีทางสายกลาง มุ่งแต่แพ้ และชนะเท่านั้น
9.       ทำให้สมาธิสั้น ตึงเครียด เพราะเกมเป็นตัวกระตุ้นสายตาที่เร็วมาก จนเกิดความเคยชิน และทำให้รอไม่เป็น การเล่นนาน ๆ ทำให้เครียด จึงโมโห และหงุดหงิดง่าย พูดจาไม่เพราะ
ผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพล์ที่ทำการวิจัยเรื่องการใช่ชีวิตจองนิสิต นักศึกษาในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,262 ตัวอย่าง ซึ่งเผยแพร่พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 95.7 ใช้โทรศัพท์มือถือเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน ร้อยละ 79.9 ใช้อินเตอร์เน็ต 3 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ใช้เวลาอ่านหนังสือพิมพ์เฉลี่ย 16 นาทีต่อวัน โดยร้อยละ 75.1 ระบุว่า อ่านเฉพาะข่าวหน้าหนึ่งบางข่าวเท่านั้น เช่นเดียวกับร้อยละ 51.6 ที่ระบุว่าอ่านนิตยสารเพียง 26 นาทีต่อวัน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้อินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่แล้ว ยังมิได้เป็นการใช้เพื่อแสวงหาความรู้ แต่เป็นไปเพื่อความบันเทิง อาทิ การแชท ถึงวันละ 2 ชั่วโมง หรือการเข้าเว็บโป๊ และเว็บลามากถึงกว่า 2 แสนครั้งในช่วง 7 วัน



งานวิจัยระบุว่า ขณะทำการบ้านจะเปิด Facebook ทิ้งไว้เฉย ๆ จะส่งผลให้การเรียนตกต่ำกว่าเพื่อน ๆ ลง 20 เปอร์เซ็นต์ เทียบระหว่างเด็กที่ใช้ และไม่ใช้ ถ้าใช้ เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.06 และถ้าไม่ใช้อยู่ที่ 3.82
การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Ohio State พบว่า เด็กจะใช้เวลาสำหรับการเรียนลดลง และมีผลการเรียนลดลง แต่หากไปสอบถามนักศึกษาว่า Facebook มีผลกระทบต่อการเรียนไหม ร้อยละ 79 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่ามีผลกระทบต่อด้านการเรียน
สมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Association)  ได้นำเสนองานวิจัยโดยสำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ใช้คอมพิวเตอร์เล่นอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการเข้าไปดูกิจกรรมต่าง ๆ บนเว็บไซต์ Facebook พบว่า วัยรุ่นเล่น Facebook มีทั้งข้อดี และข้อเสีย แต่ถ้าหากปล่อยเล่น Facebook มากเกินไปอาจส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างหลายอย่าง ดังนี้ มีอารมณ์ก้าวร้าว, ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนแย่ลง, วิตกกังวลตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า, ทำให้มีปัญหานอนดึกมากขึ้น ผักผ่อนไม่เพียงพอ

สื่อโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคม ในหลักสูตร และการสอน
(
Social Media in Curriculum and Instruction)
          เนื่องจากวิวัฒนาการของสื่อใหม่ หรือสื่อทางสังคมในปัจจุบัน ได้ก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเป็นที่นิยมในการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมทุกกลุ่ม ดังนั้นจึงได้มีการนำมาใช้ในวงการศึกษาเรียนรู้จากสื่อประเภทดังกล่าวนี้ ซึ่งเหตุผลบางประการสำคัญของการนำเอาสื่อสังคม หรือ Social Media มาใช้ร่วมกันในหลักสูตร และการเรียนการสอนนั้นมีหลายประการ แต่มีเหตุผล 2 ประการสำคัญที่ Kommer (2011: online) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
1.       สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นสื่อที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำเอาสื่อประเภทเหล่านี้เข้ามาใช้ในโรงเรียน จะสนองต่อจุดประสงค์สำคัญ และเป้าหมายที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้
2.       การนำเอาสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้ในโรงเรียน ยังเป็นการจำกัดช่องทาง และมีความเหมาะสมสำหรับผู้ใช้ (ผู้เรียน) ที่จะสามารถพัฒนารูปแบบการสื่อสารได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการสื่อสารจาการใช้เว็บไซต์ และยังเป็นระบบการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนระดับต้นได้อีกด้วย

คุณประโยชน์ของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการศึกษา
(
Benefit of using Social Media in Education)
          สื่อสังคม หรือสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นสื่อใหม่ที่กำลังมีบทบาท และมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในสังคมปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของวงการศึกษา และการจัดการเรียนรู้ ได้มีการนำเอาสื่อเหล่านี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เนื่องจากสังคมจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์หลายประการ ดังที่มีผู้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ เช่น กลุ่ม The Social Media Advisory Group แห่ง Victoria University ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึงประโยชน์ของโซเชียลมีเดียต่อการเรียนรู้ ไว้ว่า
1.       เป็นการสร้างศักยภาพของการสื่อสาร/สื่อความหมาย สนองต่อความต้องการของการสื่อความหมายในการเรียนการสอนของผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนได้รู้ถึงรูปแบบ และระดับในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเรียนรู้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้กระบวนการสื่อสารจากสื่อโซเชียลมีเดียเป็นตัวเชื่อมโยงประสบการณ์ดังกล่าว
2.       เป็นสื่อที่เหมาะสมต่อการใช้ สื่อประเภทนี้เป็นสื่อที่ปรับใช้ให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม ดังนั้น ประสิทธิภาพ และความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งด้านสถานะทางสังคม และทัศนคติ การยอมรับ ดังนั้น จึงเป็นสื่อที่มีความเหมาะสมต่อการเสริมสร้างโอกาส และความรับผิดชอบของผู้ใช้ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
3.       เป็นสื่อที่ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสริมประสบการณ์ระหว่างกลุ่มด้วยกัน ซึ่งสื่อโซเชียบมีเดียจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์สำคัญที่ผู้เรียนสามารถเลือก หรือสร้างช่องทางการเรียนรู้จากสื่อสังคมดังกล่าวที่กระทำได้ในหลากหลายกิจกรรมในการสื่อสาร
4.       เป็นสื่อช่วยเสริมสร้างทักษะความรู้ได้อย่างมีวิจารณญาณ สื่อจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถสร้างทักษะองค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างทักษะการคิด วิเคราะห์ และทักษะในการใช้สื่อประเภทดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิผล

กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media Roles)
          เนื่องจากสื่อสังคม หรือ Social Media เป็นสื่อที่ทรงพลัง และมีอิทธิพลต่อสังคมค่อนข้างสูงในปัจจุบัน ดังนั้นในทางปฏิบัติ เพื่อก่อให้เกิดคุณภาพ และประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการนำมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น ผู้ใช้สื่อสังคมต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติต่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในประเด็นสำคัญบางประการ ดังนี้ (NSW Department of Education & Training, 2011: online)
1.       ต้องรู้ถึงแนวนโยบายขององค์กร/หน่วยงาน ต่อการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อการพัฒนางาน
2.       ต้องตระหนักในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียว่า สื่อดังกล่าวนี้จะเป็นสื่อที่มีรูปแบบ และลักษณะของระบบการทำงานแบบผสมผสาน ทั้งการประสานงาน และการสานคนในองค์กร
3.       ต้องมีความชัดเจนในการกำหนดบทบาทหน้าที่ เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ในประเด็น หรือสาระที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
4.       คำนึงถึงอยู่เสมอว่าขั้นตอนการดำเนินงานจะทำอะไรก่อน-หลังในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกครั้ง
5.       คำนึงถึงหลักสำคัญของการให้เกียรติ ผู้ที่เป็นเจ้าของ
6.       พึงใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างระมัดระวัง
7.       ใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างมีมารยาทในการใช้
8.       ผลิตเนื้อหาสาระ หรือสื่อ ให้ตรงกับสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถของผู้ใช้
9.       การเชื่อมโยง เพื่อการโต้ตอบระหว่างกัน ควรคำนึงถึงความเหมาะสมระหว่างกัน
10.   ต้องยอมรับในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และรีบดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านั้น

การประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียในการจัดการเรียนการสอน
ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ดำเนินการจัดอบรมเพื่อกระตุ้นให้ครูไทย พัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมการใช้ Social Media ในการจัดการเรียนรู้ โดยเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริม และผลักดันให้ครูสามารถนำเอาเครื่องมือออนไลน์ที่มีอยู่บนระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการเรียนรู้ ให้เกิดเป็นเครือข่าย และเกิดความร่วมมือกันระหว่างครูกับครู นักเรียนกับครู และนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา และสถานที่ ก่อให้เกิดการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด (สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน, 2552) นับเป็นยุคเว็บ 2.0 ที่นักการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน และอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ (Jeff Dunn, 2011)
โดยเครื่องมือที่ทางสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน แนะนำให้ครูนำไปปรับใช้ ได้แก่ (การนำ Social Media มาใช้ในการจัดการเรียนรู้, 2556)
1.       Facebook คือ เว็บไซต์สำหรับให้ครู และนักเรียนสามารถสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ โดยการตั้งกลุ่มรายวิชา เพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียน
2.       Wordpress คือ เว็บไซต์สำเร็จรูป หรือบล็อก ที่นักเรียน และครูสามารถสร้างบล็อกส่วนตัว หรือในแต่ละรายวิชา สำหรับเผยแพร่บทเรียนในแต่ละรายวิชา หรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้
3.       YouTube คือ เว็บไซต์ที่ใช้ในการแบ่งปันไฟล์วิดีโอ ครุสามารถอัพโหลด และเผยแพร่วิดีโอการสอนผ่านเว็บไซต์นี้ได้ ใช้วิดีโอที่มีอยู่บนเว็บไซต์เป็นสื่อในการเรียนการสอน และนักเรียนสามารถเผยแพร่ผลงานของตนเองให้เพื่อน ๆ และครูได้แสดงความคิดเห็น
4.       Twitter คือเว็บไซ๖ที่ใช้ในการสื่อสารข้อความสั้น ๆ โต้ตอบกันอย่างรวดเร็ว
5.       Slideshare คือเว็บไซต์ที่ใช้ในการแบ่งปันเอกสารต่างๆ
เครื่องมืออนไลน์ที่มีอยู่อย่างหลากหลายบนอินเตอร์เน็ตนั้น มีประสิทธิภาพสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยนับวันจะพัฒนา และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้สอนสามารถดึงเครื่องมือเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม และอย่างยั่งยืน การที่ผู้สอนมีความเข้าใจในเทคนิค ของเครื่องมือ ผนวกกับกลยุทธ์การสอน และสร้างให้เกิดเป็นรูปแบบที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนนั้น นับเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้สอน (สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน, 2554)



ผลกระทบต่อการศึกษาไทย
          แม้การใช้โซเชียลมีเดียจะมีประโยชน์อย่างมากในบทบาทของเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน แต่หากผู้สอนไม่มีการจัดการที่ดีอาจส่งผลกระทบทางลบต่อนักเรียนได้ เพราะนักเรียนอาจยังไม่สามารถควบคุม หรือกำกับตนเองให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งข้อดี และข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียในการเรียนการสอน สรุปได้ดังนี้ (กานดา รุณพงศา สายแก้ว, 2554)
          ข้อดี หากมีการใช้งานในทางที่ถูกต้อง จะส่งผลดี ซึ่ง Poore(2013) ได้ยกตัวอย่างไว้ เช่น
1.       เป็นการส่งเสริมความสามารถทางสติปัญญาให้แก่ผู้เรียน
2.       เป็นการฝึกทักษะสื่อสาร การมีส่วนร่วม รวมทั้ง ทำให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคม
3.       เป็นการเสริมสร้างแรงจูงใจ
4.       ปรับสภาพแวดล้อมการเรียนแบบเปิด ง่ายต่อการเชื่อมโยง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสังคมในชั้นเรียน
5.       สนับสนุน และรองรับการสื่อสาร 2 ทาง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้แบบร่วมมือ การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก หรือการร่วมกันสร้างองค์ความรู้
ข้อเสีย ผลกระทบที่เป็นอุปสรรค์ และปัญหาจากการใช้โซเชียลมีเดียในการเรียนการสอน สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ (จุฑามาศ สนกนก, 2555)
1.       ความไม่มั่นใจในความเสถียร และความคงอยู่ของเว็บ เพราะส่วนใหญ่โซเชียลมีเดีย เป็นเว็บที่เปิดให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในบางกรณีที่เว็บไซต์ปิดตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานเกิดขึ้น
2.       การเชื่อมโยงระหว่างระบบ และข้อมูลผู้ใช้เพื่อการทำงานร่วมกันในสถานศึกษา หากไม่มีการควบคุม ผู้ใช้ที่อาจขาดความระมัดระวังในการใช้งาน เช่น การโพสข้อความหมิ่นประมาทก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเอง และองค์กรได้
3.       ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล หากไม่มีการป้องกันที่ดี อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดีนำไปใช้ในทางที่ผิดได้
4.       อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีราคาสูง หากองค์กรนั้นไม่มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ จะทำให้ใช้อุปกรณ์นั้น ๆ ได้ไม่คุ้มค่า เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตหรือห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน หากไม่มีงบประมาณในการปรบปรุงจะทำให้เกิดความล้าสมัย หรือผู้ปกครองบ้างท่านที่ไม่สามารถสนับสนุนบุตรหลาน ในการซื้อคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตเป็นของตนเอง
5.       ขาดการคัดกรองในการสืบค้นข้อมูล และการรับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดการขาดวิจารณญาณในการำเสนอข้อมูล รวมทั้งทำให้เนื้อหาที่นำเสนอผิดพลาดได้



แนวทาง และความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา
          การใช้งานโซเชียลมีเดียในเบื้องต้น เป็นการใช้งานส่วนบุคคล ที่มารถใช้ได้อย่างเสรี แต่เมื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการสืบค้น และนำเสนอข้อมูล เช่น การนำเสนอข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง หรือความทันสมัยของข้อมูล การแชร์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีอคติ หรือความลำเอียง หรือการนำข้อความ เอกสารภาพ หรือวิดีโอมาใช้ โดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา (จารุวัจน์ สองเมือง, 2554; จุไรรัตน์ ทองคำชื่นวิวัฒน์, 2552; Antony Mayfiel, 2008)
          หากครูยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบ หรือกิจกรรม การเรียนการสอน และใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ไม่คุ้มค่าตามงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุน จะส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถพัฒนาความรู้ และทักษะที่ต้องการได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงยกตัวอย่างแนวทางในการนำโซเชียลมีเดียมาใช้จัดการเรียนการสอนได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม ดังนี้
1.       หากผู้สอนต้องการนำเสนอข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ควรตรวจสอบความถูกต้อง หรือความทันสมัยของข้อมูล โดยการตรวจสอบข้อมูลจากต้นฉบับ หรือหาแหล่งที่มาของผู้เผยแพร่จากองค์การ หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ
2.       ควรมีการไตร่ตรองในการแบ่งปัน (Share) ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ หรือควรสืบค้นข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายที่มา
3.       การนำข้อความ เอกสาร ภาพ หรือวิดีโอ มาใช้ ควรมีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

บทสรุป
          โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือที่ครู และนักเรียนสามารถนำมาช่วยในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเอกสาร การให้งาน การนำเสนองาน การอภิปรายแสดงความคิดเห็น ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เสริมสร้างความรู้ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม การนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการเรียนการสอน ผู้สอนควรคำนึงถึงผลกระทบทางด้านลบที่จะตามมาด้วย ควรปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี ชี้แนะการใช้งานที่ถูกต้อง สร้างความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภคสื่อ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในการเปิดรับเนื้อหาผ่านสื่อในเชิงวิเคราะห์วิพากษ์ และประเมินสื่อ การสร้างความรู้เท่าทันสื่อนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการเรียนรู้ของเด็ก ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงนั่นเอง ทั้งหมดนี้เพื่อให้นักเรียนสามารถนำโซเชียลมีเดียมาช่วยพัฒนาความรู้ และพัฒนาทักษะอย่างถูกวิธี ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ



บรรณานุกรม
กานดา รุณนะพงศา สายแก้ว. (ม.ป.ป.). โซเชียลมีเดีย. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 12 ธันวาคม 2556,
        เข้าถึงได้จาก
http://gear.kku.ac.th/~krunapon/talks/socialmedia/kku-socialmedia.pdf
กานดา รุณนะพงศา สายแก้ว. (2554). ผลกระทบของโซเชียลเน็ตเวิร์คหรือโซเชียลมีเดียต่อสังคมไทย.
        [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 12 ธันวาคม 2556
, เข้าถึงได้จาก http://www.gotoknow.org/posts/471684
จุฑามาศ สนกนก. (2555). การใช้ Social Media กับการเรียนการสอนอุดมศึกษายุคใหม่ ผูกใจผู้เรียน ตรงใจ
        ผู้สอน. แบบสรุปข้อมูลจากการอบรมหรือสัมมนาทางวิชาการ. กรุงเทพฯ.
จารุวัจน์ สองเมือง. (2554). เครือข่ายสังคมออนไลน์กับห้องเรียน. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ 12 ธันวาคม 2556,
        เข้าถึงได้จาก
http://tawasau.yiu.ac.th/jaruwut/?p=41
จุไรรัตน์ ทองคำชื่นวิวัฒน์. (2552). เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Online Social Network). [ออนไลน์].
        เข้าถึงเมื่อ 12 ธันวาคม 2556, เข้าถึงได้จาก
       
http://ngnforum.ntc.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=76&Itemid=1
ทัตธนันท์ พุ่มนุช. 2553. “การศึกษาพฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคม (Social Network) เพื่อพัฒนาในการ
        ปฏิบัติงานของบุคลากรทางการศึกษาในสานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม.”

        Veridian E-Journal. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. Vol.5 No. 1 January – April 2012:
        หน้า 523-540.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2554). สื่อสังคม-เครือข่ายสังคม. บทวิทยุรายการรู้รักภาษาไทย. [ออนไลน์].
        เข้าถึงเมื่อ 12 ธันวาคม 2556
, เข้าถึงได้จาก
        http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=4357
วิฑูรย์ เลิศประเสริฐพันธ์. (2543). “การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของวัยรุ่นใน
        ชีวิตประจำวัน กรณีศึกษาเฉพาะ นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.” วิทยานิพนธ์ บริหารธุรกิจ
        มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.
สุทธิพร นิราพาธ. (2547). “ความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นเกมคอมพิวเตอร์กับผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน และ
        พฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย.” วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
        บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน. (2554). ที่มาของบล็อก smeducation. [ออนไลน์].
        เข้าถึงเมื่อ 12 ธันวาคม 2556
, เข้าถึงได้จาก http://smeducation.wordpress.com/about/
อรอุมา ศรีสุทธิพันธ์. (2547). “ความคิดเห็นและพฤติกรรมการเปิดรับสื่ออินเตอร์เน็ตกับรูปแบบการ 
        ดำรงชีวิตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเขตกรุงเทพมหานคร.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์  มหาบัณฑิต
        บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อำไพศรี  โสประทุม. (2539). “พฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารและปัจจัยบางประการที่มีผลต่อการ
        ยอมรับการสื่อสารคอมพิวเตอร์  ระบบอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในเขตกรุงเทพมหานคร.”
        วิทยานิพนธ์ วส.ม. (สื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Antony Mayfield. (2008). What is Social Media?. [Online]. Retrieved December 12, 2013,
        from http://www.icrossing.co.uk/fileadmin/uploads/eBooks/
        What_is_Social_Media_iCrossing_ebook.pdf
Elizabeth F. Churchill. (2012). Social Media Meaning. Proceeding of the 2012 international.
        workshop on Socially-aware multimedia. New York. USA : Pages 43-44.
Jeff Dunn. (2011). The 100 Best Web 2.0 Classroom Tools Chosen By You. [Online].
        Retrieved December 12, 2013, from
http://www.edudemic.com/best-web-tools/
Kommers , P. (2011). Social Media for Learning by Means of ICT. [online].
        Retrieved December 12, 2013, from http://www.iite.unesco.org/pics/publications/en/
        files/3214685.pdf.
NSW Department of Education and Training. (2011). Social Media Guidelines. [online].
        Retrieved December 12, 2013, from http://www.det.nsw.edu/policies/technology/
        communication/socmed_guide.pdf.
The Social media Advisory Group. Victoria University. (2012). Using Social Media for Learning
        and Teaching. [online]. Retrieved December 12, 2013, from
        http://www.tls.vu.edu.au/portal/site/technology/resources/ social20%media/
        Using_social_me_dia_for_learning_and_teaching_Staff_Guide.pdf.


Tagged: , ,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น