ทฤษฎีการเรียนรู้ของไวก๊อตสกี้ (Vygotsky)
1.
ประวัติความเป็นมา
ไวก็อตสกี้(Vygotsky)เป็นนักจิตวิทยาชาวรัสเซีย
เชื้อสายยิว เกิดในปี ค.ศ. 1896 ปีเดียวกันกับเพียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิส จากการมีประสบการณ์การทำงานเป็นนักจิตวิทยาเพียงแค่
10 ปี
ในช่วงเวลานั้นนักพัฒนาการชาวรัสเซียท่านนี้ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการการศึกษาในช่วงปี
ค.ศ. 1920 ถึง 1930 อันเป็นช่วงเดียวกันกับที่เพียเจต์กำลังสร้างทฤษฎีของเขาขึ้นมา
ในช่วงบรรยากาศหลังการปฏิวัติสหภาพโซเวียต เป้าหมายของไวก็อตสกี้คือการสร้างแนวคิดทางจิตวิทยาขึ้นมาใหม่ตามแนวทางมาร์กซิสต์
และประยุกต์ใช้จิตวิทยาโดยเฉพาะในสาขาจิตวิทยาการศึกษา
เพื่อเผชิญกับปัญหาของประชาชนในสภาพการณ์ฉุกเฉิน
ในช่วงเวลานั้นเขาได้ท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ มากมาย และทำงานวิจัย
รวมทั้งมีส่วนช่วยในการฝึกอบรมครู
โดยการสอนและช่วยเหลือในการวางรากฐานสถาบันฝึกอบรมครูแห่งใหม่
ชีวิตเขาค่อนข้างยากจน เขาไม่มีอพาร์ทเมนท์ส่วนตัวอยู่หลายปี
แต่พักอาศัยอยู่ในห้องใต้ถุนตึกในสถาบันจิตวิทยาขณะที่อยู่ในมอสโคว
มีหลักฐานยืนยันว่าเขาสร้างงานเขียนขึ้นมาภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้
แต่ผลงานของเขากลับถูกคำสั่งของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ยุคสตาลินห้ามเผยแพร่ ตราบจนกระทั่ง สตาลินถึงแก่อนิจกรรมในปี ค.ศ. 1953 ผลงานของเขาจึงได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในโลกตะวันตก
ในปี ค.ศ. 1962 ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือของเขาในรูปแบบฉบับย่อ ชื่อ Myshlenie
i rech' (ความคิดและการพูด) ภายใต้ชื่อเรื่องการคิดและภาษา
(Thought and Language) โดย Jerome Bruner นักจิตวิทยาแนวพุทธิปัญญาเป็นผู้เขียนคำนำให้
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้มีการแปลงานของไวก็อตสกี้นำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น “Developmental
of the Higher Mental Functions” (1966) “Play and its role
in the Mental Development of the Child” (1967) “Mind in Society” (1978) เป็นต้น
โชคร้ายที่ไวก็อตสกี้เสียชีวิตก่อนถึงเวลาอันควรด้วยวัยเพียง
38 ปีเท่านั้น ก่อนที่งานของเขาจะบรรลุความสำเร็จ จากการป่วยเป็นโรควัณโรค (Daniels. 1996:1-4)
อย่างไรก็ดี
ผลงานที่ไวก็อตสกีสร้างสรรค์ออกมาล้วนมีคุณค่าต่อวงการการศึกษาและจิตวิทยาอย่างมาก
ในปี 1978 เทาล์มิน (Stephen Toulmin) ได้อ่านและวิจารณ์หนังสือของไวก็อตสกี้
ชื่อ “Mind in Society” จึงให้ฉายาแก่ไวก็อตสกี้ ว่า "The Mozart of Psychology"
3.
การเรียนรู้ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการของไวก็อตสกี้
แนวคิดของไวก็อตสกี้เรื่องพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
และการเสริมต่อการเรียนรู้
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการเป็นระยะห่างระหว่างระดับพัฒนาการที่เป็นจริงกับระดับพัฒนาการที่สามารถเป็นไปได้
เด็กสามารถแก้ปัญหาที่ยากเกินกว่าระดับพัฒนาการที่แท้จริงของเขาได้
หากได้รับการแนะนำช่วยเหลือหรือได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เชี่ยวชาญที่มีความสามารถมากกว่า
ต่อมาจะอธิบายแนวความคิดเรื่องการเสริมต่อการเรียนรู้
การเสริมต่อการเรียนรู้เป็นบทบาทผู้สอนในการส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนและเตรียมการชี้แนะหรือให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้เรียนไปสู่พัฒนาการในระดับที่สูงขึ้น
จากนั้นก็จะอธิบายข้อเสนอแนะที่ทำให้การเสริมต่อการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
(Zone
of Proximal Development) เป็นหนึ่งในมโนทัศน์ของ เลฟ เซเมโนวิช ไวก็อตสกี้
(Lev Semenovich Vygotsky) ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก
ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาการ
และเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในวงการการศึกษาของเด็กปฐมวัยและพัฒนาการเด็ก
ว่าเด็กเรียนรู้และพัฒนาความคิดความเข้าใจตนเองได้อย่างไร
4.
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone of
Proximal Development)
ไวก็อตสกี้
อธิบายว่า การจัดการเรียนรู้จะต้องคำนึงถึงระดับพัฒนาการ 2 ระดับ คือ ระดับพัฒนาการที่เป็นจริง (Actual Development Level) และระดับพัฒนาการที่สามารถจะเป็นไปได้ (Potential Development
Level) ระยะห่างระหว่างระดับพัฒนาการที่เป็นจริงและระดับพัฒนาการที่สามารถจะเป็นไปได้
เรียกว่า พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone of Proximal Development) ซึ่งไวก็อตสกี้เปรียบเทียบการเรียนรู้กับพัฒนาการไว้ดังนี้
Past Learning : Actual
Development Level
Present Learning : Zone
of Proximal Development
Future Learning : Potential
Development Level
(Wing &
Putney. 2002:95)
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
(Zone
of Proximal Development)
เป็นการทำหน้าที่หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่ในปัจจุบันที่บุคคลยังไม่มีความสามารถจะทำได้
แต่อยู่ในกระบวนการที่จะทำให้บุคคลมีความพร้อม
สามารถทำหน้าที่หรือทำงานได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต
เป็นกระบวนการที่ยังอยู่ในระหว่างการเริ่มต้น (Embryonic State) ซึ่งไวก็อตสกีเปรียบเทียบว่าเป็น “ดอกตูม” (Buds) หรือ ดอกไม้ (Flowers) ของพัฒนาการมากกว่าที่จะเป็น “ผล” (Fruits) ของพัฒนาการ (Vygotsky. 1978:86)
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
คือ บริเวณที่เด็กกำลังจะเข้าใจในบางสิ่งบางอย่าง จากการเป็นครูและนักวิจัยของเขา
เขาตระหนักอยู่เสมอว่าเด็กมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกินกว่าระดับพัฒนาการทางสติปัญญาของเขาที่จะทำได้
หากเขาได้รับคำแนะนำ ถูกกระตุ้น หรือชักจูงโดยใครบางคนที่มีสติปัญญาที่ดีกว่า
บุคคลเหล่านี้อาจเป็นเพื่อนที่มีความสามารถ นักเรียนคนอื่นๆ พ่อแม่ ครู
หรือใครก็ได้ที่มีความเชี่ยวชาญ
ไวก็อตสกี้ได้ให้คำนิยามพื้นที่รอยต่อพัฒนาการนี้ว่า
“ระยะห่างระหว่างระดับพัฒนาการที่แท้จริง ซึ่งกำหนดโดยลักษณะการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคลกับระดับของศักยภาพแห่งพัฒนาการที่กำหนด
โดยผ่านการแก้ปัญหาภายใต้คำแนะนำของผู้ใหญ่
หรือในการร่วมมือช่วยเหลือกับเพื่อนที่มีความสามารถเหนือกว่า“ และได้กล่าวสนับสนุนอีกว่า
“พื้นที่รอยต่อพัฒนาการในวันนี้ จะเป็นระดับของพัฒนาการในวันพรุ่งนี้
อะไรก็ตามที่เด็กสามารถทำได้โดยอยู่ภายใต้ความช่วยเหลือในวันนี้
วันพรุ่งนี้เขาจะสามารถทำได้ด้วยตัวของเขาเอง
เพียงได้รับการเรียนรู้ที่ดีก็จะนำมาซึ่งพัฒนาการที่เจริญขึ้น” (Vygotsky. 1978:86-89)
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการจะอยู่ระหว่าง
ระดับของการแสดงพฤติกรรมโดยได้รับการช่วยเหลือ กับ
การทำงานที่เด็กทำอย่างอิสระตามลำพัง พื้นที่รอยต่อของพัฒนาการนี้ไม่มีความคงที่
ไม่มีความแน่นอน แต่จะแปรเปลี่ยนไป ซึ่งในความแปรเปลี่ยนนั้น ได้ทำให้เด็กกลายมาเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเรียนรู้มากขึ้นและมีความเข้าใจในความซับซ้อนของมโนทัศน์และทักษะต่างๆ
มากยิ่งขึ้น อะไรก็ตามที่เด็กได้รับการช่วยเหลือในอดีต
จะกลายมาเป็นการทำงานอย่างอิสระตามลำพังในปัจจุบัน
และเมื่อเผชิญกับสถานการณ์การเรียนรู้ใหม่ จากที่เคยทำงานอย่างอิสระตามลำพัง
ก็จะกลับกลายมาเป็นการทำงานที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญกว่า
วงจรนี้ก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำไปซ้ำมา เพื่อการได้มาซึ่งความรู้ ทักษะ กลวิธี
หรือพฤติกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ที่มีคุณภาพสูงขึ้น
เด็กๆ
แต่ละคนอาจมีพื้นที่รอยต่อพัฒนาการที่มีความแตกต่างกัน สำหรับเด็กบางคน
อาจเป็นไปได้ว่าเขาต้องการการช่วยเหลือในการทำกิจกรรมที่ได้มาซึ่งการเรียนรู้เพียงเล็กน้อย
ขณะที่เด็กคนอื่นๆ
สามารถเรียนรู้แบบก้าวกระโดดต่อไปได้ด้วยการได้รับความช่วยเหลือที่น้อยมาก และเป็นไปได้ที่ว่า
เด็กๆ อาจต้องการความช่วยเหลือในการเรียนรู้ในเรื่องบางเรื่องมากกว่าเรื่องอื่นๆ
ดังนั้น
เด็กจะมีการตอบสนองต่อการได้รับความช่วยเหลือที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งที่เกิดกระบวนการเรียนรู้
เช่น เด็กที่ใช้ภาษาได้ดี
จะไม่มีความรู้สึกยุ่งยากที่จะสรุปแนวความคิดที่ได้มาจากการอ่านเพื่อความเข้าใจ
แต่อาจจะรู้สึกลำบากเต็มไปด้วยอุปสรรคเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องเรียนรู้การคำนวณตัวเลขจำนวนมาก
นอกจากนี้
ขณะที่อยู่ในแต่ละขั้นตอนของการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
พฤติกรรมการตอบสนองของเด็กที่มีต่อการให้ความช่วยเหลือจะแตกต่างกัน เช่น
ในช่วงสัปดาห์แรกของการฝึกนับสิ่งของเด็กต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก
โดยเด็กจะแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่อยู่ในความคิดของตนออกมาอย่างมากมาย
เป็นต้นว่า การเป็นคนช่างซักช่างถามจำนวนสิ่งของกับพ่อแม่ หรือ
ให้พ่อแม่เป็นฝ่ายตั้งโจทย์ถามคำถามเกี่ยวกับจำนวนสิ่งของ ถ้าในเวลานั้นหรือในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
พ่อแม่ได้จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก
เด็กจะสามารถนับเลขได้ถูกต้องและเร็วกว่าที่เด็กจะเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกตามลำพัง
แต่เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการนับจำนวนสิ่งของได้บ้างแล้ว
พฤติกรรมการต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้ของเด็กก็จะค่อยๆ
ยุติไปในที่สุด
5.
การเรียนรู้ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ
ไวก็อตสกี้อธิบายว่า
พัฒนาการและการเรียนรู้มีลักษณะที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
การเรียนรู้นำไปสู่พัฒนาการ สนับสนุนพัฒนาการ หรือผลักดันให้พัฒนาการเป็นไปในระดับที่สูงขึ้น
เป็นการขยายระดับพัฒนาการออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยเกิดจากการเรียนรู้มโนทัศน์ 2 ประเภท คือ มโนทัศน์โดยธรรมชาติ (Spontaneous or Everyday
Concepts) และ มโนทัศน์ที่เป็นระบบ (Scientific or Schooled
Concepts) (Wink & Putney. 2002 : 91-94)
มโนทัศน์โดยธรรมชาติ
(Spontaneous
or Everyday Concepts)
เกิดจากการสังเกตหรือจากการรับความรู้สึกทางประสาทสัมผัส
อันเป็นประสบการณ์ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตนเองจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป
และได้ถูกนำมาใช้ในลักษณะที่เราแทบไม่รู้ตัว
มโนทัศน์ที่เป็นระบบ
(Scientific
or schooled concepts) เป็นมโนทัศน์ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในลักษณะที่เป็นระบบมากขึ้น
มีลักษณะกว้างๆ มีความเป็นนามธรรมมาก
และได้ถูกนำมาใช้อย่างมีระเบียบแบบแผนและมีจุดมุ่งหมาย ดังนั้น
มโนทัศน์ที่เป็นระบบจึงเปรียบได้กับมโนทัศน์ที่เกิดจากการเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษา
มโนทัศน์ทั้ง
2
ประเภทนี้ทำงานประสานกัน
มโนทัศน์ในชีวิตประจำวันมีความจำเป็นสำหรับเด็กที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้
เพื่อให้ได้มาซึ่งมโนทัศน์ที่เป็นระบบ
มโนทัศน์ที่เป็นระบบจะทำหน้าที่หลอมรวมมโนทัศน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เด็กได้นำไปใช้ประกอบการคิดซึ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้น
รวมทั้งเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาและขยายมโนทัศน์โดยธรรมชาติให้กลายเป็นมโนทัศน์ที่เป็นระบบ
การพัฒนาจากความรู้ความเข้าใจจากมโนทัศน์โดยธรรมชาติไปสู่มโนทัศน์ที่เป็นระบบ
จะต้องอาศัยสื่อกลางที่มีความหมาย (Mediation) ดังนี้
1. ภาษา (Language)
ไวก็อตสกี้ได้แสดงทัศนะไว้ว่า
ภาษาเกิดขึ้นครั้งแรกเป็นภาษาที่ไม่ได้แสดงถึงความคิด
เป็นช่วงระยะเวลาที่ความคิดกับภาษาไม่มีความสัมพันธ์กัน
แต่เมื่อเด็กมีพัฒนาการมากขึ้น ความคิดกับภาษาจะเริ่มมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น
ความคิดถูกแสดงให้เห็นออกมาผ่านทางภาษา
ซึ่งภาษาที่แสดงออกมาจะมีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการใช้ความคิดที่มากขึ้น (Vygotsky. 1986 citing
Dixon-Krauss. 1996:19) ดังนั้น
ภาษาจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความคิด และในขณะเดียวกันเราก็พัฒนาภาษาโดยผ่านทางการคิดด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันนี้
ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่าพฤติกรรมทางสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา
สามารถนำไปสู่การเพิ่มพัฒนาการทางความคิดได้
และนี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทฤษฎีของไวก็อตสกี้มีความแตกต่างไปจากนักจิตวิทยารุ่นเดียวกันกับเขา
เด็กใช้ภาษาในการสื่อสารความคิดระหว่างบุคคล
และสื่อสารกับความคิดของตนเองด้วยการพูดกับตนเอง (Inner Speech)
ตัวอย่างเช่น เด็กอายุ 4 ขวบ ผู้ซึ่งเพิ่งได้รับจิ๊กซอว์รูปภาพเป็นของขวัญวันเกิด
เขาพยายามต่อจิ๊กซอว์แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ในขณะที่ต่อชิ้นส่วนก็จะพูดกับตนเองไปพร้อมๆ
กัน ราวกับว่ามีคนอื่นร่วมทำงานด้วย จนกระทั่งพ่อเข้ามามีส่วนร่วม พ่อนั่งข้างๆ
เขาและให้คำแนะนำว่าควรจะต้องวางชิ้นส่วนตรงส่วนที่เป็นมุมก่อน
ถ้าชิ้นส่วนนั้นมีส่วนที่เป็นสีแดงก็ให้หาชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีสีแดงรวมอยู่ด้วย
ถ้าเด็กดูเหมือนว่ากำลังมีความคับข้องใจ
พ่อจะแสดงตัวอย่างโดยการต่อชิ้นส่วนสองชิ้นที่เป็นภาพเนื้อเดียวกัน
พร้อมทั้งอธิบาย จนกระทั่งเด็กต่อจิ๊กซอว์จนสำเร็จ พ่อให้คำพูดที่ท้าทายให้เขาต่อจิ๊กซอว์ภาพนี้อีกครั้งด้วยตัวของเขาเองตามลำพัง
เขาเริ่มต้นด้วยการแบ่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ออกเป็นกลุ่ม
สีเดียวกันก็กองไว้เป็นพวกเดียวกัน จากนั้น พ่อค่อยๆ
ถอยหลังออกมาปล่อยให้เด็กทำงานอย่างอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ
จากการที่เด็กๆ
พูดไปพร้อมๆ กับที่ทำกิจกรรม ไวก็อตสกี้อธิบายว่า
เด็กเริ่มต้นจากการสื่อสารกับบุคคลอื่น
แล้วกลายมาเป็นการสื่อสารกับความคิดของตนเองโดยการพูดกับตนเอง
ต่อมาเมื่อเด็กได้สร้างความรู้และเพิ่มพูนความเข้าใจในสิ่งต่างๆ มากขึ้น
เสียงที่เปล่งออกมาจากการพูดกับตนเองจึงค่อยๆ เงียบไป กลายเป็นการสื่อสารภายในกระบวนการคิดของเด็กเท่านั้น
ซึ่งขณะที่เด็กกำลังใช้ความคิดแสดงว่าเด็กกำลังสร้างความรู้ความเข้าใจภายในตน (Internalization)
ขึ้น อันเป็นการสร้างความหมายใหม่ขึ้นจากภายในตน
โดยใช้ความคิดของตนตีความหมายของภาษาหรือปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อทำให้ความรู้ความเข้าใจของตนเองมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
(Vygotsky. 1978:56-57) จากตัวอย่างที่เด็กต่อจิ๊กซอว์
การที่เด็กพูดออกมาในขณะที่ทำกิจกรรม จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า
ในขณะนั้นเด็กกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ หรือพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับตนเอง
ซึ่งไวก็อตสกี้อธิบายว่าขณะนั้นเด็กกำลังสร้างพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone
of Proximal Development) ขึ้น (Shaffer. 1999:260)
2.
ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction)
ทารกเกิดมาพร้อมกับพื้นฐานทางความคิดความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ
ในระดับต่ำ (Lower
Mental Functions) คือ มีความใส่ใจ การรู้สึก การรับรู้ ความจำ
ที่ไม่ซับซ้อน เนื่องจากขีดจำกัดทางชีวภาพ
การมีจินตนาการหรือจารึกประสบการณ์บางสิ่งบางอย่างให้อยู่ภายในความทรงจำอาจยากเกินกว่าความสามารถของเด็กที่จะสามารถทำได้
แต่การที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) กับพ่อแม่
ครู และคนอื่นๆ ที่ให้ความเอาใจใส่ ดูแล ช่วยเหลือแก่เด็ก
จะช่วยทำให้เด็กได้สร้างและเด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมที่จะเอื้อให้เด็กเกิดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุน
ความช่วยเหลือในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการนอกจากจะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้เริ่มฝึกหัด
เมื่อผู้เชี่ยวชาญมีความสามารถมากกว่าได้ช่วยเหลือผู้เริ่มฝึกหัด
การช่วยเหลือในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการที่ไวก็อตสกี้ได้อธิบายไว้นั้น
ยังกินความหมายที่กว้างและลึกซึ้งยิ่งกว่านี้ โดยขยายความรวมไปถึงการร่วมมือทางสังคมในการทำกิจกรรมด้วย
ซึ่งไม่ใช่เพียงเด็กต้องการผู้ใหญ่ที่คอยให้ความช่วยเหลือเท่านั้น
ไวก็อตสกี้เชื่อว่าเด็กสามารถเริ่มกิจกรรมในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการระดับที่สูงขึ้นได้จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนๆ
หรืออาจจะกับเด็กๆ ที่อยู่ในระดับพัฒนาการที่ต่างกัน
หรือแม้กระทั่งกับเพื่อนในจินตนาการ
สำหรับการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนนั้น
ผู้สอนอาจทำได้หลายอย่าง เช่น ผู้สอนอาจแสดงการพูดเป็นนัยหรือเพียงแค่บอกใบ้
สร้างเงื่อนไขในการเรียนรู้บางอย่างขึ้นมา การถามคำถามนำ
การบอกให้ผู้เรียนทบทวนสิ่งที่ได้พูดอธิบายไปแล้ว
การถามผู้เรียนว่าเข้าใจอะไรบ้างจากการเรียนรู้เป็นระยะๆ
การสาธิตประกอบการอธิบายซึ่งบางงานอาจจะสาธิตบางส่วนหรือบางงานก็อาจะสาธิตให้เห็นทั้งหมด
การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้
การฝึกหัดทักษะเฉพาะอย่างที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนสำหรับการเรียนรู้ เป็นต้น นอกจากนี้
พฤติกรรมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมยังรวมไปถึงการโต้ตอบพูดคุยกับบุคคลซึ่งได้นำเสนอผลงาน
หรือแม้กระทั่งขณะที่เด็กกำลังจินตนาการ
แล้วกำลังพยายามถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดเพื่ออธิบายบางสิ่งบางอย่างให้แก่เพื่อนๆ
3.
วัฒนธรรม (Culture)
ไวก็อตสกี้
อธิบายว่า
เด็กจะปรับเปลี่ยนความคิดความเข้าใจไปตามประสบการณ์ที่ได้รับจากสังคมและวัฒนธรรมของเขา
จนกระทั่งสร้างความรู้ขึ้นมา ทำให้เด็กมีกระบวนการทางปัญญาในระดับที่สูงขึ้น (Higher Mental
Functions) ซึ่งแต่ละวัฒนธรรมจะถ่ายทอดลักษณะเฉพาะของความเชื่อและค่านิยมในวัฒนธรรมนั้นไปสู่เด็กๆ
ทำให้เขารู้ว่า เขาคิดอะไร และควรคิดอย่างไรจึงจะเหมาะสม (Shaffer.
1999:259-260) เช่น เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา
แม้ว่าจะไม่สามารถคิดคำนวณตัวเลขด้วยวิธีการที่เป็นขั้นตอนและเป็นระบบเหมือนกับเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียน
แต่เด็กเหล่านั้นก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลขที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวันในแบบฉบับของเขา
รู้จักใช้ตัวเลขในการเจรจาต่อรองหรือการบริหารความเสี่ยง
เพื่อให้เขาสามารถเอาตัวรอดจากการถูกคุกคามต่างๆ ได้
ซึ่งเด็กที่เรียนในระบบการศึกษาอาจยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีเท่ากับเขา
นั่นเป็นเพราะเด็กทั้งสองกลุ่มอยู่คนละบริบทเชิงสังคมวัฒนธรรม
4.
การเลียนแบบ (Imitation)
ไวก็อตสีกี้อธิบายว่า
บทบาทของการเลียนแบบมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาการ เช่น
ถ้าเด็กกำลังเกิดอุปสรรคในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ครูจึงแก้ปัญหาให้เห็นเป็นตัวอย่างบนกระดานดำ
ในขณะนั้นเด็กอาจจะเลียนแบบวิธีการแก้ปัญหาของครู
โดยสร้างความเข้าใจขึ้นภายในตนเอง แต่ถ้าครูให้แก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ยากขึ้น
อันเป็นการขยายสิ่งที่เรียนรู้แล้วไปสู่สิ่งที่เรียนรู้ใหม่
เด็กอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจได้ในขณะนั้น ครูจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ลักษณะนี้หลายๆ
ครั้ง เพื่อให้เด็กค่อยๆ เลียนแบบวิธีการแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
5.
การชี้แนะหรือการช่วยเหลือ (Guidance or Assistance)
การชี้แนะหรือการช่วยเหลือ
เป็นการร่วมมือทางสังคม (Social
Collaborative) ที่สนับสนุนให้พัฒนาการทางความรู้ความเข้าใจเกิดการเจริญงอกงาม
ไวก็อตสกี้จะเน้นไปที่การมีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญกว่าอาสาที่จะมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์การเรียนรู้โดยให้การดูแลเอาใจใส่และปรับปรุงผู้เรียนที่เริ่มฝึกหัด
การจัดเตรียมสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้ผู้เรียนเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหา
ซึ่งไวก็อตสกี้เปรียบเทียบว่าเป็น “นั่งร้าน (Scaffold)”
ซึ่งในบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ หมายถึง “การเสริมต่อการเรียนรู้”
6.
การเสริมต่อการเรียนรู้
แนวทางที่ไวก็อตสกี้เสนอไว้
และต่อมาบรูเนอร์ริเริ่มนำมาเผยแพร่ ขยายความ และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก คือ การเสริมต่อการเรียนรู้
(Scaffolding) ซึ่งอธิบายไว้ดังนี้
การเสริมต่อการเรียนรู้
(Scaffolding) หมายถึง
บทบาทเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ที่ให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆ
ตามสภาพปัญหาที่เผชิญอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ปัญหานั้นด้วยตนเองได้
(Wood, Bruner & Ross. 1976: 98) โดยเป็นการจัดเตรียมสิ่งที่เอื้ออำนวย
การให้การช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุน
ขณะที่ผู้เรียนกำลังแก้ปัญหาหรือกำลังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
(ผู้เรียนกำลังอยู่ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ) ทำให้ผู้เรียนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน
และปรับการสร้างความรู้ความเข้าใจภายในตน (Internalization)
ให้กลายเป็นความรู้ความเข้าใจใหม่ภายในตนเอง ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียน
ให้ก้าวไปสู่ขั้นหรือระดับพัฒนาการที่สูงขึ้นไป (Raymond. 2000:176) ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้
และมีความเชื่อมั่นในตนเองในการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น
วูด บรูเนอร์ และโรส (Wood, Bruner
& Ross. 1976) ได้เสนอวิธีการช่วยเสริมต่อการเรียนรู้ไว้ 6
ประการ คือ
1.
การสร้างความสนใจ (Recruitment) กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ
โดยผู้เรียนจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของงานหรือการเรียนรู้นั้น
2.
ลดระดับการเรียนรู้ที่ไร้หลักการ
ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ (Reduction
in degree of freedom) เพราะจะทำให้ยากต่อการจัดการหรือการให้ความช่วยเหลือ
ดังนั้น ผู้สอนจะต้องสะท้อนผลการเรียนรู้ (Feedback) เป็นระยะๆ
สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกัน
เพื่อให้ผู้เรียนนำผลไปใช้เพื่อเพิ่มระดับการเรียนรู้ในแต่ละขั้นได้อย่างถูกต้อง
3.
รักษาทิศทางการเรียนรู้ (Direction
maintenance) ผู้สอนต้องดูแลกวดขันผู้เรียนเป็นพิเศษเพื่อให้เรียนรู้ที่จะมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายตั้งไว้
4.
กำหนดลักษณะสำคัญที่ควรพิจารณาของสิ่งที่จะเรียนรู้ให้เด่นชัด
(Marking
critical features) เช่น
ผู้สอนเมื่ออธิบายเนื้อหาสาระบางอย่างที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
ก็ควรเน้นเสียงเป็นพิเศษ หรือหากผู้เรียนเกิดความขัดแย้งในการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้
ผู้สอนควรแปลความหมายของเรื่องที่กำลังเรียนรู้นั้นๆ เสียใหม่
ด้วยภาษาที่ให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายๆ และถูกต้องตรงกัน
5.
ควบคุมความคับข้องใจของผู้เรียน (Frustration
control) รับรู้ต่ออารมณ์ของผู้เรียนที่แสดงออกมา เช่น
ผู้สอนต้องยอมรับความรู้สึกของผู้เรียนกรณีที่เขาเกิดความไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนรู้
ไม่ควรเพิกเฉยหรือปล่อยให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ค้างคาใจ
เพราะจะทำให้ผู้เรียนมีความคับข้องใจเพิ่มมากขึ้น
6.
ควรมีการสาธิต (Demonstration)
หรือมีแบบอย่างให้กับผู้เรียนในการแก้ปัญหาการเรียนรู้
การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนในการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่พัฒนาการความคิดความเข้าใจ
นอกจากความเข้าใจกลวิธีในการเสริมต่อการเรียนรู้แล้ว
ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อวิธีการเสริมต่อการเรียนรู้
ตัวอย่างเช่น เด็กชายมานะอายุห้าขวบ เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 ไม่สามารถนั่งนิ่งแล้วฟังอย่างสงบ ขณะนั่งฟังการเล่าเรื่องได้
ครูจึงต้องพยายามจัดเตรียมการช่วยเหลือต่างๆ
เพื่อช่วยให้มานะรวมความสนใจไปยังเรื่องที่ครูเล่าให้ได้
ครูจึงเรียกมานะมานั่งใกล้และใช้มือโอบไหล่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ใช้คำพูด (Nonverbal)
แต่ทั้งๆ ที่ใช้ความพยายามเช่นนี้ มานะก็ยังดิ้นไปมาและมองไปรอบๆ
ห้อง ในวันต่อมา มานะกำลังเล่นกับกลุ่มเพื่อนๆ
ปิติซึ่งเป็นรุ่นพี่อายุเจ็ดขวบเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นั่งลงบนเก้าอี้และอ่านหนังสือเช่นเดียวกันกับครู
สักครู่มานะกับเด็กคนอื่นๆ ก็แสดงบทบาทสมมติว่าตนเองเป็นนักเรียน
และฟังปิติเล่าเรื่อง มานะนั่งลงและฟังอย่างตั้งใจอยู่ราวๆ สี่ถึงห้านาที
จากนั้นก็ไปเล่นอย่างอื่น พฤติกรรมของมานะที่นั่งฟังปิติเล่าเรื่อง
เป็นพฤติกรรมที่ครูมีความปรารถนาอยากจะให้พฤติกรรมนี้เกิดขึ้น คือ ความตั้งใจ
ซึ่งพฤติกรรมความตั้งใจนี้จะอยู่ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ อันเป็นพฤติกรรมที่มานะกำลังฝึกหัด
และเป็นสิ่งที่มานะจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นพิเศษ จากตัวอย่าง
มานะสามารถมีความตั้งใจได้จากการเล่นและจากการช่วยเหลือของกลุ่มเพื่อน
เพื่อนทำให้มานะสามารถเกิดการเรียนรู้ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการของเขาได้
แต่เมื่ออยู่กับครูเขากลับไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
แสดงให้เห็นว่าบริบททางสังคมวัฒนธรรมเมื่อมานะอยู่กับเพื่อน
และมานะอยู่กับครูไม่เหมือนกัน
ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการของมานะ
ข้อเสนอแนะในการเสริมต่อการเรียนรู้
มีข้อเสนอแนะหลายประการเพื่อให้การเสริมต่อการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ
สรุปได้ดังนี้
1.
ควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
พื้นที่รอยต่อพัฒนาการแสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของพัฒนาการของเด็ก
ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เราไม่สามารถสอนเด็กๆ ได้ตลอดเวลา หรือเราไม่สามารถสอนทักษะหรือพฤติกรรมให้แก่เด็กๆ
เกินกว่า พื้นที่รอยต่อพัฒนาการของพวกเขาได้ เช่น เราไม่อาจจะสอนให้เด็กทารก
ยืนด้วยมือบนคานทรงตัว (Balance
Beam) ได้
เพราะว่าทักษะนั้นอยู่ห่างไกลจากระดับพัฒนาการที่แท้จริงของเขามาก
ถ้าทักษะนั้นอยู่ภายนอกพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ ไวก็อตสกี้ได้บันทึกไว้ว่า
โดยทั่วไปเด็กๆ จะเพิกเฉย ไม่เอาใจใส่ หรือใช้ทักษะ กลวิธี
รวมทั้งใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น
ในแต่ละครั้งที่จัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน
ควรจะมีการตั้งจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน และสามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้
จะมีความเจริญงอกงามทางสติปัญญาใหม่ๆ อย่างไรที่จะเกิดขึ้นกับเขาบ้าง
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถก้าวขึ้นไปสู่ขีดสูงสุดตามพัฒนาการที่เขาสามารถจะเป็นไปได้
2.
การให้ความช่วยเหลือควรมีความเหมาะสม
การช่วยเหลือผู้เรียนที่มากเกินไปอาจส่งผลทำให้ผู้เรียนลดระดับความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายในการเรียนรู้และลดระดับการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง
(Self-directed
Learning) ลง
การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองเป็นการที่ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
โดยการวางเป้าหมาย กำหนดแผนการเรียนและแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ สร้างกลวิธีในการเรียนรู้
และประเมินสัมฤทธิผลทางการเรียนด้วยตนเอง
แต่ถ้าช่วยเหลือผู้เรียนน้อยเกินไปอาจทำให้ผู้เรียนไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะประสบความเร็จในการเรียนรู้
นำไปสู่ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ และในที่สุดก็จะสูญเสียแรงจูงใจในการเรียนรู้
สิ่งสำคัญของการจัดการเสริมต่อการเรียนรู้
คือ การช่วยเหลือผู้เรียนต้องมีเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถช่วยเหลือตนเองได้
เมื่อความสามารถของผู้เรียนมีเพิ่มมากขึ้น
ไม่ใช่ต้องคอยช่วยเหลือหรือต้องช่วยพยุงผู้เรียนตลอด เพราะในที่สุดผู้เรียนต้องสามารถทำงานให้เสร็จสมบูรณ์หรือมีความรอบรู้ในสิ่งต่างๆ
ได้ด้วยตัวของตัวเอง นั่นคือ เมื่อความรู้ความสามารถของผู้เรียนมีเพิ่มมากขึ้น
ผู้สอนจะต้องค่อยๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลงทีละน้อย ดังนั้น
เมื่อใช้กลวิธีเสริมต่อการเรียนรู้ ผู้สอนควรตระหนักว่าเป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้และสามารถกำกับตนเอง
(Self-Regulating) ในการเรียนรู้และการแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ในที่สุด
3.
กิจกรรมและงานที่จัดเตรียมไว้ต้องท้าทายผู้เรียน
กิจกรรมหรืองานที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้เรียน
ต้องท้าท้าย จูงใจหรือทำให้ผู้เรียนมีความสนใจ
เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุกสนานทำงานหรือกิจกรรมนั้น แต่งานหรือกิจกรรมต้องไม่ยากหรือซับซ้อนมากเกินไปกว่าศักยภาพของผู้เรียนที่จะสามารถจัดการหรือทำให้ประสบความสำเร็จได้
(Bransford,
Brown, & Cocking. 2000) ดังนั้น
ในงานที่ค่อนข้างยากจะต้องมีแบบอย่าง (Model) หรือมีการกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของแต่ละกิจกรรมการเรียนรู้ไว้อย่างชัดเจน
เพื่อให้ผู้เรียนทำงานหรือกิจกรรมที่มอบหมายได้อย่างถูกต้อง
4.
ลำดับขั้นตอนและทิศทางมีความถูกต้องและชัดเจน
ต้องจัดลำดับขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ถูกต้อง
โดยมุ่งเน้นไปที่การบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นหลัก การเรียนการสอนต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและลดความสับสนของผู้เรียน
โดยผู้สอนต้องคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะมีปัญหาอะไรที่ผู้เรียนจะเผชิญบ้าง
และจะพัฒนาการสอนไปทีละขั้นๆ ได้อย่างไร จึงจะสามารถอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจได้ เมื่อเขาต้องพบกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้นั้น
5.
วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ชัดเจน
การกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ต้องชัดเจน
เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าทำไมต้องทำงานหรือกิจกรรมการเรียนรู้นั้น
และทำไมสิ่งที่เรียนรู้จึงมีความสำคัญ ผู้สอนต้องสามารถชี้ให้เห็นนับตั้งแต่เริ่มต้นกิจกรรมการเรียนรู้ว่า
ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผู้เรียนกำลังทำหรือเรียนรู้
กับวิธีการแก้ปัญหาหรือการกระทำที่เป็นมาตรฐานหรือที่พึงประสงค์นั้นเป็นเช่นไร
รวมทั้งมีการอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจถึงมาตรฐานความเป็นเลิศในการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ด้วย
6.
เนื้อหาสาระเหมาะสมกับผู้เรียน
ผู้สอนต้องตรวจสอบเนื้อหาที่จะให้เด็กเรียนรู้
เพื่อกำหนดขอบเขตและปรับปรุงบทเรียนให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน ขจัดอุปสรรคต่างๆ
ที่จะเกิดขึ้น ลดความไม่แน่นอน ความงุนงงสงสัย
และความไม่พึงพอใจในเนื้อหาสาระของผู้เรียน เพื่อทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด
7.
มีแหล่งเรียนรู้ที่สะดวกและหลากหลาย
ผู้สอนต้องชี้แจงให้ผู้เรียนได้รู้เกี่ยวกับแหล่งการเรียนรู้ที่มีคุณค่า
ที่จะช่วยลดความสับสน ความคับข้องใจ ลดความเสี่ยง และช่วยลดเวลาให้แก่ผู้เรียน
เพื่อให้ผู้เรียนได้ตัดสินใจที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและมีความสะดวกในการเรียนรู้
จะทำให้ผู้เรียนได้ใช้เวลาไม่มากนักในการค้นหาทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้
แต่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนรู้และค้นพบความรู้
ผลลัพธ์จากการมีแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าและหลากหลาย จึงทำให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ที่รวดเร็วมากขึ้น
8.
ดูแลเอาใจใส่ผู้เรียน
ผู้สอนต้องดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนให้ตั้งใจทำงานที่มอบหมาย
ในการเรียนรู้แม้ผู้เรียนสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ว่าจะเรียนรู้ไปในทิศทางไหนหรือมีสิ่งใดที่จะต้องเรียนรู้บ้าง
แต่ผู้เรียนไม่สามารถที่จะออกนอกลู่นอกทางได้ เพราะจะต้องทำงานที่ได้กำหนดไว้แล้ว
9.
ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ
ในบริบทของการเสริมต่อการเรียนรู้ในห้องเรียน
กิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้สอนจัดให้ผู้เรียน
จะยากเกินกว่าระดับพัฒนาการทางสติปัญญาที่แท้จริงของผู้เรียนสามารถแก้ปัญหาให้สำเร็จลงได้ตามลำพัง
และต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงจะแก้ปัญหาได้ ดังนั้น
ครูอาจจะจัดให้มีการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมใจ (Cooperative Learning) โดยจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ให้นักเรียนได้มีการช่วยเหลือกันในการทำงานหรือการแก้ปัญหาเป็นกลุ่มย่อย
(Small Group) โดยครูยังคงมีส่วนในการดูแลเอาใจใส่
ให้ความช่วยเหลือผู้เรียน
10.
ควรประเมินผู้เรียนแบบพลวัตร
การประเมินแบบพลวัตร
(Dynamic
Assessment) เกิดขึ้นมาจากข้อจำกัดของการประเมินแบบเดิมที่ไม่มีความยืดหยุ่น
ไวก็อตสกี้มีความคิดเห็นว่า การประเมินแบบเดิมไม่สามารถทำให้ทราบพัฒนาการที่แท้จริงของผู้เรียน
และไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ เพราะวิธีการแบบเดิมมุ่งเน้นการวัดความสามารถของผู้เรียนที่ผ่านมาแล้วหรือเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ได้ประเมินพัฒนาการที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งต่อเนื่องจากที่เป็นอยู่
การประเมินแบบพลวัตรจะประเมินพัฒนาการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่ได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
ทำให้ทราบความแตกต่างด้านความสามารถ หรือพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากการจัดการเรียนการสอนที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
และนำไปใช้ในการกำหนดหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอน
รวมทั้งงานจากการเรียนในบริบทต่างๆ
เพื่อทำให้กระบวนการเรียนการสอนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างสูงสุด (ปรีชา
ศรีเรืองฤทธิ์. 2549:42-43)
การประเมินแบบพลวัตรจะประเมินผลรอบด้าน
มีเกณฑ์การประเมินและมีการสะท้อนผลการเรียนรู้ที่ชัดเจน
โดยจะต้องประเมินว่าผู้ได้เรียนรู้อะไรและสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมทั้ง
ประเมินด้วยว่าผู้เรียนสามารถทำอะไรได้ในระดับการช่วยเหลือที่แตกต่างกันด้วย
ซึ่งผู้สอนจะต้องบันทึกด้วยว่าผู้เรียนได้นำการช่วยเหลือของผู้สอนไปใช้อย่างไร
และเด็กใช้การช่วยเหลืออะไรเป็นส่วนมาก
การประเมินผลแบบพลวัตรมีความสำคัญต่อการส่งเสริมศักยภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
รวมทั้งเป็นการขยายไปสู่การประเมินผลผู้เรียนตามสภาพจริง ดังนั้น
การนำความรู้ความเข้าใจพื้นที่รอยต่อพัฒนาการไปใช้ในการประเมินผล
ไม่เพียงแต่จะทำให้การประมาณการณ์ความรู้ความสามารถของผู้เรียนมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น
แต่ยังเป็นวิธีการประเมินที่มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนด้วย
บทสรุป
แนวคิดเรื่องพื้นที่รอยต่อพัฒนาการ (Zone of
Proximal Development) ของไวก็อตสกี้ นำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย
ทำให้นักจิตวิทยาหรือนักการศึกษามีความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์เกี่ยวกับพัฒนาการความคิดความเข้าใจของเด็กได้อย่างครบถ้วน
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอยต่อพัฒนาการจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเครื่องมือหรือสื่อกลาง
เช่น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาษา วัฒนธรรม วิธีการเรียนรู้
การชี้แนะและให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
จึงทำให้เกิดการขยายแนวคิดไปสู่การคิดกลวิธีเสริมต่อการเรียนรู้
การเสริมต่อการเรียนรู้สามารถทำได้หลายประการ
เช่น การให้แบบอย่าง การให้ข้อเสนอแนะ การสะท้อนผลการเรียนรู้ การตรวจสอบความรู้ของผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้
การลดความซับซ้อนในงานหรือกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีความง่ายต่อการทำความเข้าใจ
และอื่นๆ ซึ่งการเสริมต่อการเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพได้
ต้องมาจากพื้นฐานความเข้าใจเรื่องพื้นที่รอยต่อพัฒนาการเป็นสำคัญ นับตั้งแต่ระดับพัฒนาการที่แท้จริงของผู้เรียนอันเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้
ไปจนกระทั่งถึงพัฒนาการในระดับสูงสุดของผู้เรียนซึ่งเป็นพัฒนาการที่ผู้เรียนสามารถที่จะเป็นไปได้
จึงจะทำให้ผู้สอนสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้องและวางแผนการสอนได้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน
ไวก๊อตสกี
ได้ยกตัวอย่างของการเรียนรู้ การสร้างความรู้ในตัวเด็กจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น
เรื่องของการชี้ การที่เด็กจะชี้สิ่งต่าง ๆ ได้
จะเริ่มต้นด้วยเด็กยกมือขึ้นเพื่อไปคว้าของตรงหน้า แต่ของนั้นอาจจะอยู่ไกลเกินไป
นิ้วจึงกางอยู่กลางอากาศ
ตรงนี้จะทำให้เห็นขั้นตอนคือเริ่มด้วยการเคลื่อนไหวมือของเด็ก
เมื่อเด็กไม่สามารถคว้าของได้ ก็จะเปลี่ยนเป้าหมายซึ่งอาจเป็นคุณแม่ที่อยู่ข้าง ๆ
คือ เปลี่ยนจากวัตถุมาหาบุคคล โดยมือก็ยังชี้ไปยังสิ่งของที่ตนต้องการ
เหตุการณ์นี้จะช่วยสอนเด็กให้เข้าใจว่าการเอื้อมมือไปคว้าของหรือชี้ไปที่ของ
จะเป็นการบอกความต้องการว่าต้องการของชิ้นนี้ เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำก่อน คือ
เมื่อเขากางมือหรือชี้มือขึ้นไปเพื่อจะคว้าของ
หลังจากนั้นคุณแม่หรือสิ่งแวดล้อมภายนอกก็จะเสริมสร้างให้เด็กเรียนรู้ว่าการชี้หรือกางนิ้วไปที่วัตถุ
คือ การชี้ สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่นนี้ จะมีความหมายเมื่อเด็กคนนั้นหรือ
ผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อม พ่อแม่ คนเลี้ยงมีความเข้าใจตรงกัน
ผู้ใหญ่เข้าใจความต้องการของเด็ก
เข้าใจสัญลักษณ์ของนิ้วที่กางออกว่านี่คือการชี้และสนองตอบ
เช่นนี้ก็จะทำให้เด็กรู้จักการชี้ เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองนั่นเอง แต่ทฤษฎีของ วีกอตสกี
ก็ถูกนักการศึกษาท่านหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเรียนรู้ภายในตัวเด็กเอง
เกิดขึ้นก่อนที่จะได้สัมผัสกับสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
สรุปทฤษฎีของวัฒนธรรมและสังคมของ
เลฟ ไวก๊อตสกี (Lev
Vygotsky) ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและสังคมมาก ทฤษฎีนี้กล่าวว่า
สังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมความฉลาดและกระบวนการเรียนรู้ในพัฒนาการของเด็ก
ไวก๊อตสกี
เชื่อว่า ตัวเรามีปฏิกิริยามีสื่อสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรม
ซึ่งจะทำให้เราเป็นมนุษย์ที่มีความฉลาดและแตกต่างจากสัตว์ ไวก๊อตสกี ได้กล่าวว่า
มนุษย์ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งนอกจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว
ยังมีสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือวัฒนธรรมที่สังคมสร้างขึ้น ดังนั้น สถาบันสังคมต่างๆ เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคลเด็กเรียนรู้สัญลักษณ์ต่าง
ๆ และคำพูดเป็นครั้งแรกจากสังคม ซึ่งความฉลาดความสามารถ
ในการสื่อสารด้านภาษานี่เองเป็นพื้นฐานที่ทำให้เด็กแตกต่างจากสัตว์ นอกจากนั้นภาษายังเป็นเครื่องมือสำคัญของการคิดและพัฒนาเชาว์ปัญญาขั้นสูง
พัฒนาการทางภาษาและทางความคิดของเด็กเริ่มด้วยการพัฒนาที่แยกจากกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นพัฒนาการทั้งสองด้านจะเป็นไปร่วมกัน
บรรณานุกรรม
ทิศนา แขมมณี (พิมพ์ครั้งที่
8), ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551
พรรณ
ช.
เจนจิต (พิมพ์ครั้งที่ 4), จิตวิทยาการเรียน การสอน. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ แกรมมี่, 2538
ลิขิต
กาญจนาภรณ์,
จิตวิทยาการศึกษา:จิตวิทยาประยุกต์เพื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ
เอกสารประกอบการเรียน 463 101 Education
Psychology 2548.
สุรางค์ โค้วตระกูล (พิมพ์ครั้งที่ 5), จิตวิทยาการศึกษา.
กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544
อารี
พันธ์มณี,
จิตวิทยาการเรียน การสอน. กรุงเทพฯ :
ต้นอ้อ, 2542
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น